4 สายพันธุ์ปลากัดไทย

4 สายพันธุ์ปลากัดไทย

เมื่อจะให้กล่าวถึงสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยก็คงจะไม่มีใครไม่รู้จักกับ “ช้าง” อย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นสัตว์น้ำหล่ะก็..คงต้องกล่าวถึง “ปลากัด” อย่างไม่ต้องสงสัยครับ พราะปลากัดถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีความสวยงาม มาพร้อมกับความดุดันด้วยนิสัยของสายพันธุ์ปลาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีคนหลงใหลในปลากัด วันนี้เราจึงอยากพาทุกๆ ท่านไปพบกับ “4 สายพันธุ์ปลากัดไทย” ที่น่าสนใจกันครับ

ทำความรู้จักกับ ปลากัดไทย

ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta Splendens  เป็นปลาที่มีนิสัยที่ดุร้าย ไม่นิยมเลี้ยงร่วมกันในโหลหรือขวดแก้วขนาดเล็ก เพราะมักจะไล่กัดกันเองอยู่เป็นประจำ การเลี้ยงปลากัดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงไว้เพียงตัวเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งขวดโหล ทั้งนี้เพราะจะทำให้ตัวปลากัดรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองได้ ส่งผลให้ปลากัดมีสีสันสดใสสวยงาม

4 สายพันธุ์ปลากัดไทยน่าเลี้ยง

ปลากัดป่า หรือปลากัดลูกทุ่ง เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนา และหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบ และหาง มีสีแดงเกือบตลอด มีประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นสีเขียวๆ ที่ครีบหลัง เวลาถอดสี ทั้งตัวและครีบ จะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ในปัจจุบันคำว่า “ปลาป่า” หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน และปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วย

ปลากัดหางมงกุฎ เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. 2543 โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีหางจักเป็นหนาม เหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์ปลากัดอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็ม ซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่น ๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ

ปลากัดลูกหม้อ เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลาได้นำมาคัดสายพันธุ์ โดยมุ่งหวังจะได้สายพันธุ์ปลากัดใหม่ๆที่กัดเก่ง มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นส่วนหัวค่อนข้างโตปากใหญ่ ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่นสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง  สีเขียว และสีนาก เป็นชนิดที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น ลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ

ปลากัดสองหาง ซึ่งครีบหางมีลักษณะเป็น ๒ แฉก มีทั้งแบบแยกกันอย่างเด็ดขาด หรือที่ตรงโคนยังเชื่อมติดกันอยู่ก็ได้

สิ่งที่ควรรู้สำหรับการเลี้ยงปลากัด

●ห้ามวางตู้ปลากัดไว้ที่ที่มีแสงแดดส่องโดยตรง เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำในขวดโหลดของปลากัดจะอุ่นเกินไป ก่อให้เกิดตะกอนหรือตะไคร้บริเวณรอบขวดโหลได้ง่ายและทำให้ออกซิเจนในน้ำหมดไปในที่สุด

●ห้ามเลี้ยงปลากัดร่วมกับปลาสวยงามอื่นๆ เพราะปลากัดหวงอาณาเขตและมีความดุร้าย หากเลี้ยงร่วมกับปลาอื่นๆ ก็จะทำให้ปลากัดเกินความเครียดและทำให้ปลากัดทำร้ายปลาอื่นๆ ด้วยนั้นเองครับ

●ห้ามใส่น้ำดื่ม น้ำกรอง น้ำที่มีคลอรีนตกค้าง เพราะน้ำเหล้านี้เป็นพิษต่อปลากัด อีกทั้งหากเปลี่ยนน้ำแบบร้อยเปอร์เซนต์จะทำให้อุณหภูมิไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปลากัดนั้นเองครับ

●ห้ามใส่ใบหูกวางสดในขวดโหล เพราะมียางที่เป็นอันตรายต่อปลา ถ้าจะใส่ให้ใส่แบบแห้งเท่านั้นจึงจะมีประโยชน์กับปลากัดมากที่สุดครับ

●ควรใส่พืชน้ำลงไปในขวดโหลบ้าง เพื่อให้ปลาไม่เครียดจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น สาหร่ายหางกระรอกที่จะช่วยให้ปลากัดมีแหล่งพักพิงและทิ้งตัวขณะนอนหลับได้นั้นเองครับ

●ปิดปากขวดโหล ป้องกันแมวและสัตว์อื่นมาทำร้าย อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ปลากัดกระโดดอออกจากขวดโหลอีกด้วย

●พยายามอย่าวางโหลปลากัดในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส เพราะจะเหมาะกับการดำรงชีวิตของปลากัดมากที่สุดครับ

และนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “4 สายพันธุ์ปลากัดไทย” ที่เราได้หามาฝากทุกๆ ท่านกันในบทความนี้ครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ท่านนะไม่มากก็น้อยกันนะครับ 

General